บึงบัว

บึงบัว
บึงบัว

แหล่งศึกษาธรรมชาติบึงบัว หรือเส้นทางศึกษาพันธุ์ไม้น้ำ เป็นเส้นทางเดินบนสะพานไม้ยกระดับ เพื่อชมธรรมชาติบึงบัว โดยในเส้นทางจะมีป้าย สื่อความหมายของพืชน้ำ ในทุ่งสามร้อยยอด ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มน้ำจืดท่วมขังตลอดปี เป็นที่อยู่อาศัยของนกนานาชนิด อากาศเย็นสบายเหมาะสำหรับพักผ่อน ในเวลาเช้าและเย็น สามารถนั่งเรือถ่อชมสภาพธรรมชาติได้อย่างใกล้ชิด

บึงบัว
บึงบัว

กำเนิดทุ่งสามร้อยยอด

บริเวณทุ่งสามร้อยยอดอยู่ทางทิศตะวันตก ของเทือกเขาสามร้อยยอด ในอดีตเคยเป็นทะเลหรืออ่าว ต่อมาถูกปิดกั้นด้วยตะกอนและสันทราย ทะเลถอยล่นออกไปได้รับอิทธิพลน้ำจืดจากแผ่นดิน มีการสะสมตัวของตะกอนที่ราบลุ่มค่อยๆ กลายเป็นทุ่งน้ำกร่อยและทุ่งน้ำจืดตามลำดับ ทุ่งสามร้อยยอด เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และสำคัญที่สุดในบริเวณนี้ เป็นทุ่งน้ำจืดกว้างใหญ่ น้ำขังตลอดปี มีพื้นที่ประมาณ 70 ตารางกิโลเมตร โดยพื้นที่ครึ่งหนึ่งของทุ่งสามร้อยยอดผนวกอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ตั้งแต่ พ.ศ.2525 จัดเป็นทุ่งแขมอ้อผืนสุดท้ายที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ที่เหลืออยู่ในประเทศไทย ใน พ.ศ.2536 พื้นที่ชุ่มน้ำสามร้อยยอด ได้รับการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่จะเสนอเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ในอนุสัญญาแรมซาร์ในอนาคต

บึงบัว
บึงบัว

พรรณไม้ในทุ่งสามร้อยยอด

ทุ่งสามร้อยยอด ซึ่งเป็นทุ่งแขมอ้อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สำรวจพบ พรรณไม้มากกว่า 70 ชนิด แบ่งได้เป็น3 พวกใหญ่ๆ คือพืชโผล่เหนือน้ำ พืชลอยน้ำ และพืชใต้น้ำ พืชโผล่เหนือน้ำ ที่มีลำต้นสูงชนิดเด่นในทุ่งสามร้อยยอด ได้แก่ หญ้าแขม อ้อ และธูปฤาษี พืชโผล่พ้นน้ำที่มีต้นเตี้ยที่เด่นได้แก่ แห้วทรงกระเทียม กกสามเหลี่ยมแห้วกระดาน พืชลอยน้ำชนิดเด่นได้แก่ บัวหลวง บัวเผื่อน บัวสาย ส่วนพืชใต้น้ำชนิดเด่น ได้แก่ สาหร่ายข้าวเหนียว สาหร่ายเส้นด้าย สาหร่ายหางกระรอก สาหร่ายฉัตร และสาหร่ายพุงชะโด ที่อยู่ในบริเวณผืนน้ำเปิดโล่ง

บึงบัว

วัฎจักรของน้ำในทุ่งสามร้อยยอด

ทุ่งสามร้อยยอด เป็นองค์ประกอบย่อยของลุ่มน้ำชายฝั่งทะเล ประจวบคีรีขันธ์บน แหล่งน้ำหลักของทุ่งได้แก่น้ำฝน มีปริมาณเฉลี่ย 800-1,200 มิลลิเมตรต่อปี น้ำท่าส่วนหนึ่งไหลมาตามลำห้วย ทางทิศตะวันตก อีกส่วนหนึ่งไหลมาจาก เทือกเขาสามร้อยยอดลงสู่ทุ่ง ซึ่งเป็นที่ราบต่ำลักษณะเป็นท้องกะทะ น้ำระบายออกได้ช้า ทำให้เกิดสภาพน้ำท่วมขัง เป็นประจำ แหล่งน้ำอีก 2 แหล่งที่เข้าสู่ทุ่งสามร้อยยอดคือ น้ำใต้ดินและน้ำจากคลองชลประทาน แต่เป็นส่วนน้อย ในแต่ละปีน้ำจะท่วมทุ่งสามร้อยยอดไม่น้อยกว่า 4-10 เดือน ระหว่างเดือนมิถุนายน-มีนาคม โดยมีระดับน้ำนองสูงสุด ในเดือนพฤศจิกายน ระดับน้ำลึกเฉลี่ย 1 เมตร มีเพียงคลองเขาแดง เป็นทางเดียวที่ระบายน้ำจากทุ่งออกสู่ทะเล และเป็นทางน้ำที่น้ำทะเลหนุนเข้ามาในทุ่ง ขณะน้ำขึ้นมีระดับน้ำลึกเฉลี่ย 3 เมตร

บึงบัว

นกในทุ่งสามร้อยยอด

บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด มีความหลากหลาย ของชนิดนกสูงมากถึง 316 ชนิด ในจำนวนนี้มีนก อย่างน้อย 157 ชนิด หรือประมาณครึ่งหนึ่ง เป็นนกที่อาศัยอยู่เฉพาะในพื้นที่ชุ่มน้ำเท่านั้น เฉพาะในทุ่งสามร้อยยอด สำรวจพบนก 118 ชนิด ทั้งนกขนาดใหญ่ที่เป็นนกประจำถิ่น และนกน้ำอพยพ ได้แก่ นกเป็ดน้ำ นกกินเนื้อเหล่า นกอินทรีขนาดใหญ่ ที่อพยพมาในช่วงฤดูหนาว เหยี่ยวทุ่ง นกชายทะเล นกขนาดเล็กอีกหลายชนิด นกเหล่านี้หลายชนิดในปัจจุบัน เป็นนกที่พบเห็นได้ยากในที่อื่นๆ ของประเทศไทย นกชนิดเด่นในทุ่งสามร้อยยอด เช่น นกกระสานวล นกกระสาแดง เป็ดแดง เป็ดคับแค นกอินทรีปีกลาย นกอินทรีหัวไหล่ขาว นกกระแตหัวเทา นกพงนาแมนจูเรีย นกกระจาบอกลาย นกกระติ๊ดสีอิฐ เหยี่ยวทุ่ง เหยี่ยวด่างดำขาว เป็ดลาย และนกอีลุ้ม เป็นต้น

บึงบัว

บนเส้นทางศึกษาพันธุ์ไม้น้ำ จะมีป้ายบอกพันธ์ต้นไม้แต่ละชนิด ที่ขึ้นอยู่ภายในบริเวณ บึงบัวนี้ เพื่อให้ความรู้ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ
บึงบัว

บึงบัว

เป็นครั้งแรกกับการมาเที่ยวของเราที่บึงบัวแห่งนี้ หลังจากได้พบเห็น ภาพความงามของธรรมชาติ จากการประกวดภาพถ่าย หลายๆครั้ง ในจังหวัดประจวบฯ ซึ่งมักจะมีภาพของบึงบัวปรากฏให้เห็นอยู่เป็นประจำ จึงเป็นสาเหตุให้ prachuaptown.com มาถ่ายภาพในวันนี้

แต่ภาพที่เราได้เห็นในวันนี้ (17 มกราคม 2552) ค่อนข้างผิด จากที่เราคาดไว้มาก เนื่องจาก ดอกบัวและใบบัวดูสีสันไม่สดใส เหมือนดังที่เห็นในภาพถ่าย อาจจะเนื่องมากจาก อากาศที่หนาวมากในช่วงนี้ รึสาเหตุจากฤดูกาล รึอาจจะเป็นวัฎจักรของระบบนิเวศของที่นี่ ซึ่งคงต้องรอผู้รู้จริงมาอธิบายจะดีกว่า

ระหว่างที่เดินดูเส้นทางศึกษาธรรมชาตินั้น ก็เห็นนกตัวหนึ่งที่อยู่ในภาพ เดินไปตามใบบัว จากใบหนึ่งไปอีกใบหนึ่ง จึงทำให้ได้คิดว่า ในสายตายของนักท่องเที่ยวธรรมดาคนหนึ่ง อาจมองไม่เห็นความสำคัญและความงามที่แท้จริงของธรรมชาติ

แต่อีกหลายชีวิตที่อยู่ที่นี่ ความสำคัญของบึงบัวอาจจะไม่ใช่แค่ ใบบัวเขียวขจี แซมกับดอกบัวที่บานสะพรั่ง แต่คงเป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายและสมบูรณ์พอที่จะเอื้ออำนวยให้ชีวิตได้อยู่รอด การมาเที่ยวบึงบัวในครั้งนี้ของเราจึงไม่ได้ผิดหวัง กับภาพใบบัวและดอกบัวที่ไม่เป็นไปอย่างที่คิด

แต่เรากลับได้เห็นภาพความจริงของธรรมชาติ ในอีกมุมมองหนึ่ง จึงหวังว่านักท่องเที่ยวคงมองเห็นความงามของธรรมชาติที่แท้จริง มากกว่าความงามของธรรมชาติที่เห็นได้แค่เพียงสายตา

บึงบัว
บึงบัว บึงบัว

ระหว่างที่กำลังเดินกลับจากเส้นทางศึกษาธรรมชาตินั้น ก็ตั้งใจว่าจะไปขอแผ่นพับที่อาคาร ศูนย์ศึกษาธรรมชาติ จึงเดินเข้าไปข้างใน ซึ่งจะมีข้อมูลภาพ และหนังสือเกี่ยวกับเรื่อง ระบบนิเวศ และเรื่องของทุ่งสามร้อยยอดนี้ให้ได้อ่านและศึกษากัน และเราก็ได้ภาพถ่ายจากป้ายนิทรรศการ

บึงบัว
บึงบัว

จะเห็นว่าเป็นภาพที่สวยงามมากครับ

แต่สิ่งที่ทำให้เราสนใจมากกว่านั้นคือ ป้ายแสดงข้อความและรูปภาพ ที่อยู่ถัดไปด้านใน เป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่า Unseen จริงๆ คือ

บึงบัว
บึงบัว

ป้ายนิทรรศการอันนี้ครับ ซึ่งคัดลอกข้อความมาดังนี้

ภาพโบราณเขาสามร้อยยอด (ถ้ำภาพเขียน)

เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 3 ธันวาคม 2539 นายธิติวุฒิ คชสารศิลป์ นายไชยา เพ็งอุ่น เจ้าหน้าที่กองทุนสัตว์ป่าโลกสากลสำนักงานประเทศไทยพร้อมด้วยนายศากร หนุกูล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ด้านทิศตะวันตก ของเทือกเขา ในท้องที่อำเภอกุยบุรีและกิ่งอำเภอสามร้อยยอด ห่างจากศูนย์ศึกษาธรรมชาติบึงบัว ประมาณ1,100 เมตร และสูงขึ้นไปบนยอดเขาความสูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 300 เมตร ได้พบ ถ้ำแห่งหนึ่งมีขนาดกว้าง 68 เมตร จากการตรวจสอบโดยรอบพบว่าบริเวณด้านหนือของถ้ำเป็นผนังพบเห็นภาพเขียนโบราณเชื่อว่าเป็นยุคประวัติศาสตร์ ประมาณ 3,000 - 5,000 ปี บ่งบอกถึงความเป็นอยู่และการดำรงชีวิตของมนุษย์โบราณ ร่องรอยการขีดเขียนสีควาดว่าเป็นฝุ่นหิน ผสมกับยางไม้แล้วนำมาเขียนตามผนังถ้ำ เป็นภาพคนชายหญิง ควายป่า เรือสำเภา ปลาวาฬ ภาพธิวธงสามเหลี่ยม ภาพคนยืนหัวเรือชี้มองพระอาทิตย์ กลุ่มภาพเหล่านี้สูงจากพื้นประมาณ 5 เมตร เนื้อที่ 15 เมตร ปัจจุบันภาพเหล่านี้ ยังคงมีความสมบูรณ์ อยู่ 50-70% เนื่องจากถูกทำลายโดยธรรมชาติ จากการกัดกร่อนของน้ำฝน แต่บางภาพก็ยังมีความสมบูรณ์ดี นายธิติวุฒิกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการสำรวจของ นายดีน สมาด นักวิจัยถ้ำชาวอังกฤษ มาสำรวจเก็บข้อมูลไว้ตามถ้ำต่างๆ ในอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด เมื่อเดือนกรกฎาคม 2539 และได้ระบุว่า พบถ้ำภาพเขียนเช่นกัน แต่ยังไม่มีใครรู้จุดที่แน่ชัด นอกจากจะพบถ้ำภาพเขียนแล้ว ใกล้กันยังได้สำรวจพบถ้ำพระที่มีความกว้างใหญ่พอประมาณมีปล่องที่ผนังถ้ำ กระทบกับหินงอก หินย้อย และก็เรื่องที่น่าแปลกใจว่า มีธรรมมาดพระเทศนาอยู่ภายในถ้ำได้อย่างไรจะนำรายละเอียดที่พบ ภายในถ้ำทั้งสองแห่งนี้ เดินทางเข้าไปร่วมประชุมที่สำนักงานที่กรุงเทพฯ จากนั้นส่งเรื่องให้กรมศิลปากรเพื่อส่งผู้ชำนาญการ ร่วมกับเจ้าหน้าที่กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทยเข้าทำการสำรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง

บึงบัว บึงบัว บึงบัว บึงบัว
บึงบัว บึงบัว บึงบัว
บึงบัว

ภาพที่ถ่ายมาจากบอร์ดนิทรรศการนั้น ไม่ค่อยชัดนักเนื่องจากมีแสงสะท้อน

เมื่อไปถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่อุทยาน จึงได้รับคำตอบว่า การจะไปดูภาพโบราณบนเขาสามร้อยยอดนั้น จะต้องมีเจ้าหน้าที่พาขึ้นไป เนื่องจากเส้นทาง ไปถ้ำนั้นยังไม่เปิดให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวให้เห็นชัดเจนนัก ซึ่งอาจจะหลงทางได้

และเนื่องด้วยเวลาที่มีจำกัดในวันนี้ prachuaptow.com จึงพลาดโอกาสที่จะได้ภาพ Unseen มาให้ชมกัน แต่เราจะกลับมาเยี่ยม บึงบัวใหม่อีกครั้ง ในช่วงที่ใบบัวและดอกบัวมีความสมบูรณ์มากกว่านี้ และเราจะถ่ายภาพ และเส้นทาง ของถ้ำภาพโบราณเขาสามร้อยยอด มาให้ชมกันอีกครั้ง แน่นอนครับ