วัดทางสาย

วัดทางสาย
แผนทีเขาธงชัย

ที่ตั้งพุทธธรรมสถานอุทยานวัดทางสาย(เขาธงชัย)
ตั้งอยู่ที่ ม.9 ต.ธงชัย อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีลักษณะคล้ายเต่ายื่นลงไปในทะเล อยู่กึ่งกลางระหว่าง 2 อ่าว คือ อ่าวบ้านกรูดและอ่าวบ้านทางสาย มีความสูงจากน้ำทะเลถึงยอดเขา 110 ฟุต มีถนนขึ้นสู่ยอดเขาโดยสะดวก ระยะทาง 1 กิโลเมตร ห่างจากสถานีรถไฟบ้านกรูด 4 กิโลเมตร ห่างจากถนนเพชรเกษม 12 กิโลเมตร

วัดทางสาย

พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ
ในวโรกาศมหามงคลดิถี 5 พฤษภาคม พระพุทธศักราช 2539 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงเถลิงถวัลราชสมบัติครบ 50 ปี นับเป็นพระมหากษัตริยาธิราช อันยินนานยิ่งกว่าพระมหากษัตริยาธิราชทุกพระองค์ ที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารและในโลกปัจจุบัน

คณะสงฆ์วัดทางสาย คณะกรรมการเทิดพระเกียรติ์ ประชาชนชาวไทยทั้งในและต่างประเทศ ร่วมกันสร้างพระเจดีย์ น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระราชกุศล เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุ เพิ่อประดิษฐานในพระเจดีย์ และทรงพระกรุณาโปรดกระหม่อม พระราชทานนามพระเจดีย์ว่า "พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ"

วัดทางสาย

พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ เป็นแบบสถาปัตยกรรมไทยกรุงรัตนโกสินทร์ ประจำรัชสมัยรัชกาลที่ 9 คณะกรรมการการก่องสร้างมีนายสวัสดิ์ โชติพานิช อดีตประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโดยหม่อมราชวงศิมิตรารุณ เกษมศรี สถาปนิกประจำราชสำนักและศิลปินแห่งชาติ ซึ่งเป็นปูชนียบุคคลด้านสถาปัตยกรรมไทย

โดยรวมเอาพระเจดีย์ พระสถูป อุโบสถ วิหารคด ระเบียง มารวมอยู่ในอาคารเดียวกันรูปลักษณ์เป็นอาคารชุดหลังเดียวขนาดใหญ่ในเนื้อที่กว่า 3 ไร่ ฐานอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 50 เมตร สูง 50 เมตร จึงมีความหมายการครองราชครบ 50 ปี มีเจดีย์องใหญ่รูปทรงกลมเป็นองค์ประธาน มีเจดีย์ขนาดย่อมล้อมรอบ 8 องค์เป็นหมู่เจดีย์ 9 องค์ หมายถึงประจำรัชกาลที่ 9 ภายในองค์พระมหาธาตุเจดีย์ ประกอบด้วยชั้นต่างๆ 5 ชั้น

ชั้นที่ 1 ชั้นใต้พื้นดินเป็นที่เก็บน้ำฝนขนาดใหญ่
พื้นที่ในส่วนนี้ เป็นถังเก็บน้ำ และมีห้องเก็บของ โดยอยกออกเป็น 2 ปีก ทางด้านมุขทิศตะวันออกและมุขทิศตะวันตก

ชั้นที่ 2 เป็นโถงอเนกประสงค์และสำนักงานมูลนิธิ เพื่อพระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ
พื้นที่ในชั้นนี้ประกอบด้วย 2 ส่วนใหญ่คือ พื้นที่ภายในอาคาร และพื้นที่ลานประทักษิณด้านนอก ซึ่งบนลานประทักษิณนั้น มีบันไดเชื่อมสู่ชั้นที่ 2 และเป็นที่ตั้งของ หอกลอง หอระฆัง และศาลารายอีก 4 หลัง และที่บริเวณมุมของฐานชั้นนี้เป็นที่ตั้งของใบเสมารวมทั้งหมด 8 ใบ ส่วนพื้นที่ภายในอาคารนั้นเป็นโถงโล่งขนาดใหญ่สามารถใช้งานได้อเนกประสงค์ ส่วนหนึ่งของพื้นที่นั้นถูกกันไว้สำหรับเป็นห้องเครื่องปั๊มน้ำ และห้องเก็บของ

วัดทางสาย

ชั้นที่ 3 เป็นวิหาร บริเวณใจกลางเป็นแท่นประดิษฐาน พระพุทธรูปปางอิริยาบถสี่ จำนวน 4 องค์
ทางเข้าภายในวิหารเป็นซุ้มทำด้วยไม้สักทองแกะสลัก แท่นและซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป 4 องค์ทำด้วยหินอ่อน ผนังโดยรอบเขียนจิตรกรรมภาพ 5 ธันวามหาราช 1 ภาพ พระราชพิธีสิบสองเดือน 12 ภาพและประเพณีท้องถิ่นภาคต่างๆ ของประเทศไทยอีก 50 ภาพ

วัดทางสาย

ชั้นที่ 4 เป็นอุโบสถ ซึ่งประดิษฐานพระประธาน มีชื่อว่า"พระพุทธลีลากาญจนวบพิตร"
พระประธานในอุโบสถจัดสร้างโดยยึดถือรูปแบบ พุทธลักษณะปางลีลาโดยจำลองแบบมาจากพระพุทธรูปปางลีลาสมัยกรุงสุโขทัยซึ่งมีอายุกว่า 800 ปี ที่มีความงดงาม อ่อนล้อยถึงพร้อมด้วยคุณค่า แห่งพุทธศิลปะโดยได้รับการยอมรับในระดับสากลว่า เป็นพระพุทธรูปปางลีลาที่งามที่สุดในโลก

ด้านหลังพระประธานเขียนจิตรกรรม ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาววดึงส์อยู่ภายในกรอบ 12 นักษัตรด้านหน้าพระประธานตอนบน เขียนพระพุทธเจ้าเสด็จประทับบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ขณะโปรดพระพุทธมารดา มีต้นปาริชาติ และพระจุฬามณีส่วนตอนล่าง

วัดทางสาย

ตามช่องหน้าต่างเขียนพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนกบนกระจกสีโปร่งแสงสเตนกล๊าส ส่วนบนเป็นพระปรมาภิไธยย่อ "ภปร" และ ตราพระราชสัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 9 จำนวน 20 ภาพ บานประตูเขียนสีปิดทองเป็นรูปทวารบาล เทวดายืนแท่นมียักษ์แบก


ชั้นที่ 5 บุษบกประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

พระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่ภายในบุษบกไม้สัก แกะสลักปิดทองตั้งอยู่บนฐานทรงสูง ทำด้วยหินอ่อนมีมุขยื่นทั้งสี่ด้าน ใจกลางประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำ ปางประจำพระชนมวาร ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยะเดชมหาราช

เนื่องจาก ภายในพระมหาธาตุเจดีย์ ห้ามถ่ายภาพ จึงมีภาพมาให้ดูน้อยนะครับ ภายในมีการตกแต่งอย่างสวยงาม ขอแนะนำนักท่องเที่ยวแวะเที่ยวชมนะครับ

พระพุทธกิติสิริชัย

ในวโรกาศมหามงคลสมัย
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ทรงเจริญพระชมมพรรษา 60 พรรษา
วันที่ 12 สิงหาคม พระพุทธศักราช 2535

วัดทางสาย คณะสงฆ์และประชาชนชาวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทุกหมู่เหล่า ต่างปลื้มปิติปราโมทย์สุดจะพรรณา ด้วยความจงรักภักดีสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้ ได้มีจิตสมานฉันท์ร่วมใจกันสร้าง พระพุทธรูปปูนปั้น ปิดทอง แบบศิลปะคันธาระ ปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 10 เมตร สูง 13.82 เมตร ฐานสูง4.18 เมตร

พระพุทธกิติสิริชัย

น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายราชสักการะ เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงประทานพระนามว่า"พระพุทธกิติสิริชัย"และทรงประทานพระบรมสารีริกธาตุ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในองค์พระพุทธกิติสิริชัย วันพฤหัสบดี แรมเจ็ดค่ำ เดือนหก ปีชวด ตรงกับวันที่ 6 มิถุนายน พระพุทธศักราช 2539 เวลา 9 นาฬิกา 59 นาที

วัดทางสาย วัดทางสาย
วัดทางสาย

นอกจาก พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ และ พระพุทธกิติสิริชัย แล้ว บริเวณใกล้เคียงกันยังมี พระตำหนักกรมหลวงชุมพรฯ อีกด้วย