หลวงพ่อในกุฏิ วัดกุยบุรี

หลวงพ่อในกุฏิวัดกุยบุรี เป็นเกจิอาจารย์ผู้วิเศษองค์หนึ่งของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หรือเป็นอาจารย์ผู้วิเศษทางภาคใต้ก็ว่าได้ ตามตำนานและคำบอกเล่ากันต่อๆมาว่า เดิมท่านชื่อมาก หรือบุญมาก เป็นชาวปักษ์ใต้ แต่ไม่ทราบหรือปรากฏแน่นอนว่าท่านมีถิ่นฐานอยู่ที่ไหน ได้มีเรื่องเล่ากันมาเป็น 2 นัยด้วยกันคือ นัยหนึ่งว่าเป็นคนตำบลนาทุ่ง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร อีกนัยหนึ่งว่าเป็นชาวหลังสวนนั่นเอง ทั้ง 2 นัยที่ว่ามานี้ ก็หาได้มีหลักบานปรากฏชัดเจนแน่นอนไม่ แต่ที่แน่นอนที่สุดนั่นก็คือ ท่านเป็นชาวปักษ์ใต้แน่นอน หลวงพ่อในกุฏิ มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกันมาทั้งหมด 4 คนด้วยกัน มีพี่ชาย 2 และมีน้องสาว 1 คน ส่วนตัวท่านเป็นลูกคนที่ 3 ของบิดามารดา

ท่านเกิดในราวปีมะเส็ง พ.ศ.23.4 สมัยแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศ กรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พี่ชายของท่านคนหนึ่งชื่ออินทร์ คนรองชื่อม่วง ส่วนน้องสาวคนสุดท้องนั้นว่ากันว่าชื่อพริ้มเพรา ตระกูลของหลวงพ่อเป็นตระกูลที่มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก

ผู้ชายในตระกูล เมื่อมีอายุครบ 20 ปีแล้ว จะต้องบวชกันทุกคน พี่ชายคนโตชื่ออินทร์ เมื่อได้มีอายุครบก็บวช คนรองที่ชื่อม่วง ครั้นเมื่ออายุครบก็บวช หลวงพ่อในกุฏิเองก็บวชเช่นเดียวกัน สันนิษฐานว่า หลวงพ่อในกุฏิ บวชราวปี พ.ศ.2324 หรือ พ.ศ.2325 ใน 2 ปีนี้ปีฉลูหรือปีขาลนั่นเอง

ตระกูลของหลวงพ่อในกุฏิทั้ง 3 พี่น้องเมื่อบวชแล้วก็ได้ศึกษาเล่าเรียนกันมา ตามยุคตามสมัย ที่มีการศึกษาเล่าเรียนกันมาอยู่ในสมัยนั้น พอมีความรู้พระธรรมวินัยพอที่จะรักษาตัวได้แล้วก็พยายามศึกษาเล่าเรียนในทางเวชกรรมและในทางไสยศาสตร์ และวิปัสสนากัมมัฏฐานอีกทางหนึ่งด้วย จนสามารถชำนิชำนาญแตกฉาน กันทุกองค์ทั้ง 3 พี่น้อง แต่ละองค์ล้วนพอที่จะเป็นเกจิอาจารย์ของขลังกันได้ทุกองค์ เมื่อได้อยู่จำพรรษาที่วัดเดิมกันมาตามสมควรแล้วจึงได้ชักชวนกันเดินธุดงค์ข้นมาทางเหนือพักแรมกันเรื่อยมาตามสถานที่ต่างๆ ที่นั่นบ้างที่นี่บ้าง แห่งละพรรษาหนึ่งบ้าง จนได้เดินทางมาถึงเมืองกำเนิดนพคุณหรือบางสะพานในปัจจุบัน พี่ชายองค์ใหญ่ คือหลวงพ่ออินทร์ ท่านได้เห็นพื้นที่และทำเลที่นั่นอุดมสมบูรณ์ดีพอที่จะพักพิงอาศัยในที่นั้นได้ ท่านจึงขอพักอยู่จำพรรษา ณ ที่นั้น ต่อมาท่านได้เป็นที่เลื่อมใสของชาวเมืองกำเนิดนพคุณ จนทานได้ถึงการมรณภาพอยู่ ณ วัดนั้นเอง ชาวเมืองกำเนิดนพคุณจึงได้ช่วยกันสร้างรูปเหมือนของท่านไว้สักการบูชาและปิดทอง ปัจจุบันนี้รูปของท่านได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดเขาโบสถ์ อำเภอบางสะพาน

เมื่อเหลืออีก 2 พี่น้อง คือหลวงพ่อม่วงกับหลวงพ่อมาก หรือหลวงพ่อในกุฏิ ทั้งสองก็ธุดงค์กัน ขึ้นมาตามลำดับ จนได้มาถึงถ้ำแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ระหว่างบ้านกรูดกับทับสะแก หลวงพ่อม่วงท่านเห็นถ้ำก็พอใจในถ้ำนั้น ท่านเห็นเป็นถ้ำที่สวยดี จึงได้บอกกับหลวงพ่อในกุฏิซึ่งเป็นน้องชายว่า ขอพักอยู่จำพรรษา ณ ที่ถ้ำนั้น ถ้ำนั้นก็คือถ้ำคีรีวงศ์ในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ไกลกับป้ายสถานีโคกตาหอม หลวงพ่อม่วงอยู่ที่นั่น ได้เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในแถบนั้น ครั้นเมื่อได้ล่วงลับดับจิตไปแล้ว ประชาชนทั้งหลายจึงได้พร้อมใจกันปั้นรูปเหมือนของทาน ไว้สักการบูชา และก็ได้ประดิษฐานอยู่ที่ถ้ำคีรีวงศ์นั่นเอง ปัจจุบันถ้ำนั้นได้เป็นวัดในพระพุทธศาสนาแล้วชื่อวัดถ้ำคีรีวงศ์ หลวงพ่อบุญมากหรือหลวงพ่อในกุฏิ ท่านเหลือเพียงองค์เดียวก็ได้ธุดงค์เรื่อยขึ้นมา พักผ่อนรอนแรมจำพรรษาตลอดมา

จนกระทั่งได้เดินทางขึ้นมาถึงเมืองกุยบุรี สมัยนั้นกุยบุรียังเป็นเมืองอยู่ สันนิษฐานว่าอยู่ในราว พ.ศ.2340 กุยบุรีมีเจ้าเมืองปกครอง ในขณะนั้นวัดกุยบุรีกำลังว่างเจ้าอาวาสปกครองวัด เจ้าเมืองกุยบุรีและประชาชนชาวเมืองกุยบุรีจึงได้อ้อนวอนและอาราธนาให้หลวงพ่อได้รับเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดกุยบุรี

หลวงพ่อในกุฏิได้พิจารณาเห็นว่า วัดกุยบุรีนี้เป็นวัดเก่าแก่เป็นวัดที่คู่เมืองมาก่อน พร้อมทั้งได้เห็นทำเลที่ตั้งวัดอยู่ในที่เหมาะสมและถูกลักษณะการสร้างวัดมีแม่น้ำกุยบุรีไหลผ่านทางด้านหลังวัดและตั้งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้าน ที่พระภิกษุจะต้องออกไปบิณฑบาตในเวลาเช้า นับเป็นสับปายะของผู้อยู่อาศัยถึงจะไม่ไกลจากหมู่บ้านแต่ก็ปราศจากเสียงอื้ออึงเข้ามารบกวน สมเป็นที่หลีกอยู่ของสมณะผู้ใคร่หาความสงบ หลวงพ่อในกุฏิเป็นผู้ที่ใฝ่ใจ ในด้านหาความสงบทางจิตยู่แล้ว จึงได้รับอาราธนาจากเจ้าเมือง และชาวกุยบุรีปกครองวัดกุยบุรีตลอดมา

หลวงพ่อในกุฏิเป็นผู้มีเมตตาจิต ได้ช่วยเหลืออนุเคราะห์และสงเคราะห์ให้กับคนทุกเพศทุกวัยทุกชั้นทุกหมู่เหล่า ตลอดถึงลูกเล็กเด็กแดงได้รับความป่วยไข้ก็ช่วยพ่นปัดและต้มหยูกต้มยาให้ ท่านช่วยสงเคราะห์ให้ด้วยจิตเมตตา อยู่ตลอดเวลา นับได้ว่าท่านได้เป็นที่พึ่งของปวงชนทั้งหลายจริงๆ เมื่อเป็นดังนี้ ชาวกุยบุรีจึงได้มีหลวงพ่อในกุฏิเป็นสรณะ เพิ่มขึ้นอีกองค์หนึ่ง นอกจากไตรสรณะคมน์

ในสมัยหนึ่ง คนเฒ่าคนแก่เล่ากันมาว่า ครั้งหนึ่งที่เมืองกุยบุรีนี้ได้มีโรคระบาดเกิดขึ้นอย่างร้ายแรง ผู้คนล้มตายกันเป็นจำนวนมากในสมัยก่อนเรียกกันว่าโรคห่าลง ปัจจุบันก็คือโรคอหิวาตกโรคนั่นเอง ล้มตายกันจนใบไม้เหลือง คำว่าใบไม้เหลืองนั้นก็คือ คนโบราณเมื่อมีคนตายแล้วจะต้องนำไปฝันไว้ในป่าช้า แล้วตัดต้นไม้หรือกิ่งไม้ปักไว้ที่หลุมฝังศพ เพื่อเป็นเครื่องหมายพอจำได้ ประชาชนตายเช้าตายเย็นกันทุกวัน หลวงพ่อท่านก็ได้พยายามช่วยอนุเคราะห์ด้วยการแผ่เมตตาจิต และเจริญพระพุทธมนต์ขององพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อขับไล่เสนียดจัญไร พร้องทั้งได้ใช้เวทมนต์คาถาอาคมทางไสยศาสตร์ ช่วยปัดเป่าให้ชาวกุยบุรีได้ผ่อนคลายและผ่านพ้นจากทุกภัยและมรณภัยไปได้เป็นอย่างมาก

หลวงพ่อในกุฏิท่านเป็นผู้เคร่งครัดในด้านวิปัสสนา กัมมัฏฐานและชำนิชำนาญคล่องแคล่วด้านไสยศาสตร์ พร้อมทั้งเป็นผู้มีเมตตาจิตอย่างสูง ทั้งเป็นผู้มีวาจาศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย คือเมื่อพูดคำใดแล้วจะต้องเป็นอย่างนั้น เมื่อเป็นดังนี้ชาวเมืองกุยบุรี เมืองคลองวาฬ เมืองปราณ ตลอดจนถึงเมืองใกล้เคียงจึงได้ศรัทธาเลื่อมใสในบุญบารมีเป็นอันมาก เมื่อใดได้รับทุกข์ก็จะต้องหาโอกาสมาบนบานศาลกล่าว ขอให้ช่วยปัดเป่าให้ผ่อนคลายหายจากทุกข์นั้นๆ ครั้นเมื่อได้รับความสำเร็จแล้ว หรือสมความปรารถนาจากที่ตนได้บอกกล่าวกับหลวงพ่อไว้แล้วก็จะต้องนมัสการ และปิดทองที่ตัวท่านเป็นจำนวนมาก จนไม่สามารถที่จะปฏิเสธในการที่ได้บนบาน ของผู้ที่ศรัทธาเลื่อมใสได้ จึงต้องยอมให้เขาเหล่านั้นปิดทอง ตามที่เขาได้บนบานเอาไว้ เล่ากันว่าหลวงพ่อท่านต้องถูกปิดทองทั้งเป็น คือปิดตั้งแต่หัวเข่าของท่านลงไปจนถึงปลายเท้าทั้งสองข้าง ในเรื่องไสยศาสตร์เวทมนต์คาถานั้นนับว่าหลวงพ่อเป็นผู้มีอาคมขลัง และศักดิ์สิทธ์เป็นพิเศษองค์หนึ่ง